ดอยคำจับมือกระทรวงอุดมศึกษาฯ จัดตั้งศูนย์ประสานงาน “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล” โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตําบล ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร

ดอยคำจับมือกระทรวงอุดมศึกษาฯ จัดตั้งศูนย์ประสานงาน “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล” โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตําบล  ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร
จังหวัดสกลนคร : 24 กุมภาพันธ์ 2564 – บริษัท ดอยคําผลิตภัณฑ์อาหาร จํากัด ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรม จังหวัดสกลนคร (AIC) มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จัดตั้งศูนย์ประสานงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตําบลเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตําบลแบบบูรณาการพื้นที่ตําบลเต่างอย
คุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรีชา ธรรมวินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และนายกฤษฎิ์ โสมปัดทุม นายอำเภอเต่างอย เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการพื้นที่ตำบลเต่างอย “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล”
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณให้กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการดำเนินโครงการการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ University to Tambon (U2T)
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดสกลนคร เป็นหน่วยดำเนินการในพื้นที่ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ร่วมกับ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร ในความดูแลของ บริษัท ดอยคําผลิตภัณฑ์อาหาร จํากัด ส่วนราชการในพื้นที่ วิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ พร้อมยกระดับสินค้า OTOP และอาชีพอื่นๆ ในการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นการยกระดับการท่องเที่ยว  และนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการสุขภาพชุมชน ตลอดจนเทคโนโลยีด้านต่างๆทั้งยังเป็นการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การเกิดเศษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชนพร้อมทั้งสำรวจและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19
นอกจากนี้ยังมีภารกิจในการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนรายตำบล เพื่อให้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน และยั่งยืน
โดยรูปแบบการดำเนินงาน รัฐบาลได้อุดหนุนงบประมาณในการจ้างงานประชาชน 3 กลุ่ม 20 อัตราประกอบด้วย กลุ่มนิสิตนักศึกษาที่กำลังทำการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี จำนวน 5 คน กลุ่มประชาชนทั่วไปจำนวน 5 คน ซึ่งเป็นผู้แทนวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR : DIW และโครงการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มบัณฑิตจบใหม่จำนวน 10 คน จากหลากหลายสาขาวิชาและหลากหลายมหาวิทยาลัย
ศูนย์ประสานงานฯ แห่งนี้จะเป็น Co-working Space  ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาเชิงบูรณาการในพื้นที่ตามแนวพระราโชบายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน อย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนในตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร

เกี่ยวกับดอยคำ

จากพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงต้องการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น ทรงส่งเสริมการปลูกพืชผลไม้เมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น พร้อมทรงมีพระราชดําริให้จัดตั้ง สหกรณ์ชาวเขา และโรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปขึ้น เพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างเป็นธรรม และแปรรูปผลผลิต ภายใต้ตราสินค้า “ดอยคํา” รวมถึงจัดให้มีการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา โดยจัดตั้งเป็น นิติบุคคลภายใต้ชื่อ “บริษัท ดอยคําผลิตภัณฑ์อาหาร จํากัด” ดําเนินกิจการในรูปแบบ “ธุรกิจเพื่อสังคม” ในปีพ.ศ. 2537
ดอยคำตระหนักอยู่เสมอว่าผลกำไรที่แท้จริงคือ การได้เห็นคนไทยทุกระดับกินดี อยู่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะนั้นย่อมหมายถึงความสุขที่ยั่งยืนของคนไทยทุกคน…ดังสโลแกนที่ว่า “เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลเพื่อคนไทย”