เหตุการณ์สำคัญ
เหตุการณ์สำคัญ
พ.ศ. ๒๕๑๒ (1969) การก่อตั้ง “โครงการหลวง พระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” The Royal Hill Tribe Assistance Project
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงก่อตั้งโครงการหลวง พระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา เพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่น การทำไร่เลื่อนลอย ตลอดจนความทุกข์ยากของราษฎรชาวเขา โดยมีวัตถุประสงค์ให้ส่งเสริมการปลูกพืชผัก ผลไม้เมืองหนาว หลากหลายชนิดทดแทนการปลูกฝิ่น
พ.ศ. ๒๕๑๕ (1972) การก่อตั้ง “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่” The First Royal Factory (Fang), Chiang Mai
ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรจึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง ”สหกรณ์ชาวเขา” และ “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป” แห่งแรกขึ้น เพื่อช่วยเหลือด้านการรับซื้อผลผลิตจากพืชที่ส่งเสริมในราคาเป็นธรรม โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในเครื่องหมายการค้า “ดอยคำ” เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนการจัดหาช่องทางกระจายสินค้าสู่ตลาด รวมถึงจัดให้มีการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตามแนวพระราชดำริ “อุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการพัฒนาชนบท”
พ.ศ. ๒๕๑๗ (1974) การก่อตั้ง “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) จังหวัดเชียงราย” The Second Royal Factory (Mae Chan), Chiang Rai
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ที่ ๒ (แม่จัน) จังหวัดเชียงราย ถูกก่อตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๑๗ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด และความทุกยากของราษฎร โดยใช้หลักดำเนินการเช่นเดียวกันกับที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) โดยมีจุดประสงค์เพื่อการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกพืชเมืองหนาว
พ.ศ. ๒๕๒๔ (1981) การก่อตั้ง “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร” The Third Royal Factory (Tao Ngoi), Sakon Nakorn
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้ก่อตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ที่ ๓ (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร เพื่อแก้ไขปัญหาความแร้นแค้น ขาดแคลนอาหารและน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภคของราษฎรในพื้นที่ โดยนำเอาแนวคิดมาจากการพัฒนาในพื้นที่ของโรงงานหลวงฯ ทั้ง ๒ แห่ง แรกมาเป็นต้นแบบ โดยโรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย) จ.สกลนคร เป็น โรงงานหลวงฯ แห่งแรกในภาคอีสานที่แปรรูปมะเขือเทศ อีกทั้งยังพัฒนาอาชีพ และเสริมรายได้ของราษฎรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนให้ยั่งยืน ด้วยการปลูกมะเขือเทศ และส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตมะเขือเทศ ก่อให้เกิด “เส้นทางสายมะเขือเทศ” ในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง
พ.ศ. ๒๕๓๗ (1994) บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม Doi Kham Food Products Co., Ltd., a Social Business
ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชกระแสให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รับช่วงดำเนินกิจการโรงงานหลวงฯ ต่อจากมูลนิธิโครงการหลวง โดยจัดตั้งเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” เพื่อดำเนินกิจการในรูปแบบ ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) บริษัทฯ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการสร้างสุขให้สังคมด้วยการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน
พ.ศ. ๒๕๖๑ (2018) สืบสานพระราชปณิธานของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๙
๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ตามพระราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.๒๕๖๑ บริษัทฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสานตามพระราชปณิธานของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๙ ด้วยทรงรับเป็นพระราชภาระในการดูแลกิจการด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีการพัฒนาให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยต่อไป