“ดอยคำ” ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนกับชุมชนรอบโรงงานหลวงฯ มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

“ดอยคำ” ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนกับชุมชนรอบโรงงานหลวงฯ มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

จากเป้าหมายการมุ่งสู่สังคมไร้ขยะ (Zero Waste) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมของ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป ด้วยการเป็นต้นแบบองค์กรภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจการตามศาสตร์แห่งพระราชา ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างยั่งยืน
ปี 2563 “ดอยคำ” ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านการทำกิจกรรม “กฐินดอยคำ ประจำปี 2563” และกิจกรรมผ้าป่าสามัคคี” ภายใต้ “โครงการดอยคำเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต่อยอดสู่ชุมชน”  โดยมีเป้าหมายในการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการจัดการขยะ และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ให้แก่ชุมชน ที่หมายรวมถึงบ้าน วัด โรงเรียน และโรงงานหลวงฯ
โดยเล็งเห็นว่า ขวดพลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate) ซึ่งเป็นที่นิยมในการนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม มีปริมาณขยะสูงมาก แต่ขวดพลาสติก PET มีคุณสมบัติที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์
“ดอยคำ” จึงได้จัดกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะภายในชุมชนและการใช้ประโยชน์จากขยะขวดพลาสติก PET ( Polyethylene Terephthalate) เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ก่อนจะเกิดเป็นความร่วมมือร่วมใจกันขึ้น
สำหรับขวดพลาสติก PET ( Polyethylene Terephthalate) ที่เป็นขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ใช้แล้ว ได้ถูกนำมาคัดแยกและผ่านกระบวนการทำความสะอาดในอุณหภูมิที่สูง ก่อนจะบดขวดเป็นเกล็ดและนำไปหลอมเป็นเม็ดพลาสติกที่มีคุณภาพสูง เพื่อฉีดเป็นเส้นใยและนำมาขึ้นทอเป็นของใช้ที่มีประโยชน์ โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
กลายมาเป็น “ผ้าไตรจีวร” ที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ระบายอากาศได้ดี ถวายให้กับพระสงฆ์ “ผ้าคลุมเก้าอี้ของชุมชน” ที่นำมาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมทอดกฐินดอยคำ และผ้าป่าสามัคคี “ชุดกีฬา” สำหรับใช้ในโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชน ให้เยาวชนบ้านยาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ สวมใส่เข้าร่วมการแข่งขัน 329 กีฬาเยาวชนต้านภัยยาเสพติดคนไทยเชื้อสายจีนยูนนาน ซึ่งเป็นกีฬาประจำปี รวมถึงเศษพลาสติก PET ที่นำมาเป็นส่วนผสมในการทำ “อิฐบล็อก” ที่มีความแข็งแกร่ง รับน้ำหนักได้ดี มีมาตรฐาน ใช้ประโยชน์ในการปูพื้นภายในวัด

โดยดอยคำเริ่มต้นจากชุมชนรอบโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ชุมชนบ้านยาง บ้านใหม่หลวง บ้านใหม่ทุ่งเจริญ บ้านทุ่งหลุก โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนบ้านป่าห้า โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) จังหวัดเชียงราย ชุมชนบ้านนางอย โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร และชุมชนบ้านซับสมบูรณ์ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๔ (ละหานทราย) จังหวัดบุรีรัมย์ ในการร่วมมือร่วมใจกันทำกิจกรรมตลอดทั้งปี
“ดอยคำ” ในฐานะองค์กรที่มีการดำเนินงานตามแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ จะนำไปสู่การลดปริมาณการฝังกลบของเสียในชุมชน และลดปริมาณการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
เป็นไปตามนโยบายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ที่ตระหนักถึงการอนุรักษ์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ จึงประยุกต์ใช้แนวทางการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Doikham Go Green) อย่างต่อเนื่องเสมอมา